เรือสินค้าชนสะพานยาวอันดับที่ 3 ของโลกพังถล่ม เมืองบัลติมอร์จ่อกระทบหนัก

เกิดอะไรขึ้น เรือสินค้าชนสะพานพังถล่ม เมืองบัลติมอร์จ่อกระทบหนัก

เมื่อช่วงเช้ามืดตามเวลาท้องถิ่นของรัฐแมรีแลนด์ ของสหรัฐฯ เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อเรือสินค้าขนาดใหญ่พุ่งชนเสาตอม่อสะพานแขวนความยาวอันดับที่ 3 ของโลก จนพังถล่มลงมาทั้งสาย สร้างความตกตะลึงให้แก่ชาวเมืองซึ่งต้องตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าสะพานที่อยู่กับพวกเขามาหลายสิบปีหายไปแล้ว

จากข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมาจนถึงตอนนี้ สาเหตุที่เรือสินค้าพุ่งชนตอม่อสะพานเป็นเพราะเรือเกิดปัญหาด้านพลังงาน จนเสียการควบคุม ด้านสำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ FBI เชื่อว่าเหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุ ไม่ใช้การก่อการร้าย

ขณะเดียวกัน หน่วยกู้ภัยกับเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานก็กำลังช่วยกันตามหาผู้สูญหายหลังสะพานถล่ม ซึ่งตอนนี้เชื่อว่ามี 6 คน หลังก่อนหน้านี้ช่วยเอาไว้ได้แล้ว 2 คน ท่ามกลางเสียงเตือนของผู้เชี่ยวชาญ ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเมืองท่าขนาดใหญ่บนชายฝั่งตะวันออกที่ต้องดูแลสินค้าปีละหลายสิบล้านตันแห่งนี้

ทำไมเรือสินค้าพุ่งชนสะพาน?

เหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ ก่อน 01.30 น. วันอังคารที่ 26 มี.ค. 2567 ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ เมื่อเรือสินค้าสัญชาติสิงคโปร์ ชื่อว่า ‘ดาลี’ พุ่งเข้าชนเสาตอม่อสะพานแขวน ‘ฟรานซิส สกอตต์ คีย์’ จนเป็นเหตุให้สะพานความยาว 2.57 กม. สายนี้พังถล่มลงสู่แม่น้ำปาแทปส์โก

ตามการเปิดเผยของการท่าเรือและการเดินเรือแห่งสิงคโปร์ เรือสินค้านี้มีความยาวถึง 984 ฟุต หรือใกล้เคียงกับสนามอเมริกันฟุตบอล 3 สนาม โดยก่อนเกิดเหตุเรือลำนี้สูญเสียแรงขับเคลื่อนชั่วขณะ ลูกเรือจึงปล่อยสมอตามระเบียบการในภาวะฉุกเฉิน แต่เรือกลับไม่สามารถรักษาเส้นทางได้ และพุ่งเข้าชนตอม่อสะพาน

นายเวส มัวร์ ผู้ว่าการรัฐแมรีแลนด์ ยืนยันว่าเรือดาลีส่งสัญญาณเมย์เดย์ แจ้งเหตุฉุกเฉินไปยังเจ้าหน้าที่ว่า เรือสูญเสียพลังงาน ก่อนที่เรือจะชนเข้ากับตอม่อสะพาน และการเตือนนี้อาจช่วยชีวิตคนมากมาย เพราะทำให้เจ้าหน้าที่มีเวลาปิดการจราจรไม่ให้มีรถบนสะพานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายจอห์น โอลเซวสกี ผู้บริหารเขตบัลติมอร์ เคาน์ตี เปิดเผยในเวลาต่อมาว่า กัปตันเรือดาลีส่งสัญญาณเมย์เดย์ก่อนที่เรือจะชนเพียง 2 นาทีเท่านั้น โดยที่ไม่แน่ชัดว่าลูกเรือเริ่มหย่อนสมอเมื่อไร และหย่อนทันหรือไม่

ผู้ว่าการรัฐแมรีแลนด์บอกด้วยว่า เรือลำนี้แล่นมาด้วยความเร็ว 8 น็อต หรือราว 15 กม./ชม. ซึ่งถือว่าเร็วมาก

ขณะเดียวกัน คลิปวิดีโอวินาทีเกิดเหตุแสดงให้เห็นว่าเรือสินค้าลำนี้แล่นผิดเส้นทางในขณะที่เข้าใกล้สะพาน โดยเรือชนเข้ากับตอม่อฝั่งหนึ่งของสะพาน แทนที่จะลอดใต้กลางสะพานที่มีช่องว่างมากที่สุด

เร่งค้นหาผู้สูญหาย

จนถึงตอนนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เชื่อว่ายังเหลือผู้ที่สูญหายไปตอนที่สะพานพังถล่มทั้งสิ้น 6 ราย โดยทั้งหมดเป็นคนงานก่อสร้างซึ่งมาซ่อมบำรุงรูบนพื้นถนนของสะพาน

ก่อนหน้านี้มีผู้ประสบเหตุได้รับความช่วยเหลือขึ้นมาจากแม่น้ำปาแทปส์โกแล้ว 2 ราย โดยคนหนึ่งไม่ได้รับบาดเจ็บ ส่วนอีกคนต้องถูกนำตัวส่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ด้วยอาการสาหัสมาก แต่ในช่วงบ่ายวันอังคาร เขาก็ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว

เจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัยใช้เทคโนโลยีอินฟาเรดและโซนาร์ จนสามารถระบุตำแหน่งของยานพาหนะ 5 คันที่ตกลงไปในแม่น้ำปาแทปส์โก (Patapsco) ได้สำเร็จ โดยคาดว่าทั้งหมดเป็นรถของทีมก่อสร้าง และไม่พบว่ามีผู้เคราะห์ร้ายติดอยู่ในรถ โดยขณะนี้ทีมนักประดาน้ำ 8 ทีม จำนวนราว 50 คน กำลังร่วมในปฏิบัติการช่วยเหลือ

ส่วนบนเรือดาลี บริษัท ซีเนอร์จี กรุ๊ป ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าของเรือ ยืนยันว่าไม่มีลูกเรือได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด

FBI ไม่เชื่อเป็นการก่อการร้าย

เจ้าหน้าที่สำนักงานสืบสวนกลางสหรัฐฯ ระบุว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ที่บอกว่าเหตุการณ์เรือชนตอม่อจนสะพานฟรานซิส สกอตต์ คีย์ บริดจ์พังถล่ม เกิดขึ้นจากความจงใจ แต่ถึงกระนั้นเจ้าหน้าที่ก็ยังถูกส่งไปยังจุดเกิดเหตุ ซึ่งนายแอนดรูว์ แมกเคบ อดีตรองผู้อำนวยการของ FBI อธิบายว่ามีหลายเหตุผลที่ต้องทำเช่นนั้น

ข้อแรกคือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ต้องมีการตอบสนองครั้งใหญ่แบบนี้ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายท้องถิ่นทั้งหมด, หน่วยงานรัฐ หรือใครก็ตามที่อยู่ในพื้นที่ ต้องไปปรากฏตัวและให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ตามข้อตกลงความช่วยเหลือร่วมกัน เช่น FBI ซึ่งมีทีมดำน้ำประสบการณ์สูง ก็สามารถช่วยเหลือเรื่องการค้นหาได้

ส่วนข้อสอง FBI สามารถช่วยยืนยันได้ว่าหายนะที่เกิดขึ้นเป็นความจงใจหรือไม่ โดยพวกเขาจะตรวจสอบข้อมูลข่าวกรองทั้งหมดที่มี เพื่อดูว่ามีใครพูดถึงเรื่องแผนการ หรือเป้าหมายใดๆ หรือไม่ เพื่อดูว่ามีความเคลื่อนไหวเบื้องหลังที่เจ้าหน้าที่ต้องรู้และจับตาดูหรือเปล่า แต่จากที่เขาได้ยินได้ฟังมาจนถึงตอนนี้ กรณีล่าสุดไม่มีเรื่องเช่นนั้น

การจราจร-ขนส่ง กระทบหนัก

ในขณะที่การช่วยเหลือผู้สูญหายยังคงดำเนินต่อไป บรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ออกมาเตือนว่า อุบัติเหตุครั้งนี้อาจส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเมืองบัลติมอร์ เนื่องจากซากสะพานทำให้การเดินเรือต้องหยุดลงอย่างไม่มีกำหนด

เมืองท่าบัลติมอร์มีความสำคัญมากในฐานะท่าเรือบนชายฝั่งตะวันออกที่ใกล้ภูมิภาคมิดเวสต์มากที่สุด ทำให้มันกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าประเภทรถยนต์, ตู้คอนเทนเนอร์ และสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ และเป็นอันดับ 1 ท่าเรือสหรัฐฯ ที่มียานพาหนะถูกขนส่งผ่านมากที่สุด โดยเมื่อปีก่อนมีรถยนต์ถูกขนส่งผ่านท่าเรือแห่งนี้ถึง 850,000 คัน

การพังถล่มของสะพานฟรานซิส สกอตต์ คีย์ จะกระทบต่อการขนส่งทั้งตอนบนและตอนล่างของชายฝั่งตะวันออก เพราะเดิมทีในแต่ละวันจะมีรถใช้งานสะพานแห่งนี้ราว 30,000-35,000 คัน แต่ตอนนี้รถที่จะข้ามแม่น้ำปาแทปส์โก จะต้องไปลอดอุโมงค์ใต้น้ำ 2 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์บัลติมอร์ ฮาร์เบอร์ (Baltimore Harbor) และอุโมงค์ฟอร์ท แมกเฮนรี (Fort McHenry) ที่อยู่ห่างออกไปแทน ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้การจราจรล่าช้า นอกจากนั้นวัตถุอันตรายยังไม่ได้รับอนุญาตให้ลอดผ่านอุโมงค์ ทำให้ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางที่ไกลขึ้นอีก

ขณะที่การเปลี่ยนเส้นทางขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือ ฟิลาเดลเฟีย, นอร์ฟอล์ค หรือท่าเรือนิวยอร์ก และนิวเจอร์ซี อาจดันค่าใช้จ่ายของการขนส่งด้วยรถบรรทุกและรถไฟให้เพิ่มขึ้น หากจำนวนสินค้ามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และอาจทำให้เกิดความแออัดขึ้นที่ท่าเรือทางเลือกอื่นๆ นำไปสู่ความล่าช้า และทำให้ค่าระวางขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม นายมาร์ก ซานดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน ‘มูดีส์ อนาลีติกส์’ กล่าวว่า แม้จะเกิดการติดขัดในห่วงโซ่อุปทานที่บัลติมอร์ แต่ไม่น่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภาพรวม เนื่องจากยังมีท่าเรือให้เลือกส่งสินค้าอีกมาก

หนึ่งในปัจจัยที่เป็นตัวตัดสินว่าผลกระทบจะมากหรือน้อย คือระยะวลาที่ท่าเรือต้องปิดทำการ โดยนายมัวร์ยอมรับว่าเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า ท่าเรือบัลติมอร์จะกลับมาเปิดได้เมื่อไร ส่วนประธานาธิบดี โจ ไบเดน ให้คำมั่นว่า รัฐบาลจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพื่อสร้างสะพานใหม่ และทำให้ท่าเรือกลับมาเปิดโดยเร็วที่สุด แต่เขาก็ไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน

 

ความสำคัญของบัลติมอร์

นายมัวร์ยอมรับว่าการสร้างสะพานเส้นใหม่เป็นการก่อสร้างระยะยาวที่อาจใช้เวลานานหลายปี แต่ตอนนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเก็บกวาดซากปรักหักพังออกจากแม่น้ำ เพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือมาสู่เมืองท่าอันแสนสำคัญของสหรัฐฯ แห่งนี้

ในภาพรวม บัลติมอร์ เป็นท่าเรือที่รับและส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับที่ 9 ของสหรัฐอเมริกา ในปี 2566 เมืองแห่งนี้ต้องรับมือสินค้าน้ำหนักรวมถึง 52.3 ล้านตัน มูลค่ากว่า 8.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างงานโดยตรงถึง 15,330 คน และงานจากบริการที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 139,180 ตำแหน่ง

บัลติมอร์ ยังเป็นท่าเรือลำดับต้นๆ ของสหรัฐฯ ในการขนส่งเครื่องจักรก่อสร้าง และการเกษตร รวมถึงรับสินค้านำเข้าประเภทน้ำตาล และยิปซัม นอกจากนั้นยังเป็นท่าเรือที่มีถ่านหินถูกส่งออกไปถึง 20 ล้านตันต่อปี มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศด้วย

หนึ่งในผู้ผลิตรายสำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวบัลติมอร์คือ โรงงานทำน้ำตาล ‘โดมิโน ชูการ์’ ผู้ผลิตน้ำตาลจากอ้อยรายใหญ่ที่สุดในซีกโลกตะวันตก ซึ่งดำเนินธุรกิจมานานกว่า 115 ปี และโรงงานแห่งนี้มีน้ำตาลดิบมากมายส่งผ่านทางเรือ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์น้ำตาลประเภทต่างๆ แต่ตอนนี้ไม่แน่ชัดแล้วว่าพวกเขาจะมีแผนอย่างไร เมื่อการนำเข้าผ่านท่าเรือบัลติมอร์ต้องหยุดชะงักลง

บัลติมอร์ ยังเป็นท่าเทียบเรือให้แก่เรือสำราญของบริษัทดังอย่าง ‘รอยัล แคริบเบียน’, ‘คาร์นิวัล’ และ ‘นอร์วิเจียน’ โดยเมื่อปีก่อนมีผู้โดยสารเดินทางออกจากท่าเรือแห่งนี้มากกว่า 444,000 คน

แต่นักวิเคราะห์อย่างนายซานดียังมองโลกในแง่ดีว่า แม้การพังถล่มของสะพานฟรานซิส สกอตต์ คีย์ จะสร้างเรื่องน่าปวดหัวมากมายให้แก่บัลติมอร์ และทำให้เกิดความสูญเสียทางธุรกิจที่ท่าเรือ แต่มันจะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และเม็ดเงินที่จะถูกใช้เพื่อสร้างสะพานแห่งใหม่จะกลายเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง ถึงแม้ว่ามันจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ก็ตาม.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Back To Top