สรุปเหตุการณ์แห่งปี 2566 “สงครามอิสราเอล-ฮามาส” ความขัดแย้งที่ดำเนินมายาวนานและไร้วี่เววจะสิ้นสุดลง
โลกปี 2023 ดูเหมือนจะเป็นปีที่ความสงบสุขค่อย ๆ เลือนหายไปเรื่อย ๆ โดยนอกจากอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเพราะภาวะโลกร้อนและวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว โลกยังเดือดระอุเพราะต้องเผชิญกับ “ไฟสงคราม” ด้วย
หลายภูมิภาคของโลกขณะนี้ เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ที่บางจุดก็ยกระดับกลายมาเป็นสงคราม เช่น สงครามรัฐบาลทหาร-กลุ่มต่อต้านในเมียนมา และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่บางจุดก็ตึงเครียดจนเกรงว่าอาจกลายเป็นสงคราม อาทิ ความขัดแย้งคาบสมุทรเกาหลี ข้อพิพาททะเลจีนใต้ ข้อพิพาทเอสเซกิโบ ฯลฯ
ที่ปรึกษาความมั่นคงอิสราเอลชี้ สงครามจบก็ต่อเมื่อผู้นำฮามาสถูกสังหาร
“ผมคิดว่าผมคงจะตาย” ตัวประกันไทยเปิดใจ ชีวิต 50 วันในเงื้อมมือฮามาส
อิสราเอลไม่เจรจาฮามาสแล้ว ประกาศล้างบางฮามาสให้หมดไปจากโลก
แต่หากพูดถึงสงครามที่ปะทุขึ้นในปี 2023 ซึ่งได้รับความสนใจจากทั้งโลก เชื่อว่าอย่างไรก็คงหนีไม่พ้น “สงครามอิสราเอล-ฮามาส” ที่ยังคงดำเนินอยู่ และคาดว่าจะดำเนินต่อไปข้ามปี
สงคราม คือการรบราฆ่าฟันกันระหว่างคนจำนวนมากที่แบ่งเป็นฝักฝ่ายต่าง ๆ เพื่อยึดครองและแย่งชิง โดยปัจจัยอาจมาจากทั้งผลประโยชน์ อำนาจ หรือแม้กระทั่ง “ความเชื่อ”
การจะพูดถึงสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่ดำเนินอยู่นั้น ไม่สามารถพูดได้เพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ต้องย้อนไปพิจารณาถึงรากเหง้าของปัญหาทั้งหมด
ดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของอิสราเอลในปัจจุบันนั้น ในอดีตเชื่อว่าเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชนชาติยิว มีการก่อร่างสร้างเมือง หนึ่งในนั้นคือ “เยรูซาเลม” ซึ่งมีประวัติยาวนานย้อนไปถึง 1900 ก่อนคริสตกาล หรือเกือบ 4,000 ปีเลยทีเดียว
แต่ด้วยชัยภูมิที่ตั้งซึ่งเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา ทำให้ชนชาติอื่นหมายตาดินแดนนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรมันหรือเปอร์เซีย และเกิดการรบพุ่งแย่งชิงดินแดนบ่อยครั้ง ทำให้ชาวยิวต้องละทิ้งถิ่นฐานเดิม และกระจัดกระจายไปตามที่ต่าง ๆ ของโลก
ดินแดนอิสราเอลถูกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามประสงค์ของผู้ปกครอง โดยเคยเป็นทั้งดินแดนของชาวยิว ชาวคริสต์ และชาวมุสลิม แต่สิ่งที่ทั้งสามชนชาตินี้เชื่อเหมือนกันคือ เยรูซาเลมและดินแดนอิสราเอล คือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา
หลังชาวยิวจากไปด้วยพิษของสงคราม ก็มีชนชาติหนึ่งย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน นั่นคือชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวมุสลิมอาหรับ และได้กล่าวเรียกดินแดนอิสราเอลว่าเป็นดินแดนปาเลสไตน์
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 หลายพื้นที่ของอิสราเอลในอดีต รวมถึงบริเวณที่เป็น “ฉนวนกาซา” ในปัจจุบัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน กระทั่งช่วงปี 1918 ที่สงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง อังกฤษก็เป็นผู้เข้ามาปกครองแทน
กาลเวลาล่วงเลยมาอีกจนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ชาวยิวในขณะนั้น ได้รับความเห็นใจจากชาติตะวันตกอย่างมาก เนื่องจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของฮิตเลอร์ จึงมีความพยายามช่วยเหลือให้ชาวยิวมีสถานที่ตั้งรกราก
แน่นอนว่า ชาวยิวต้องการกลับมาตั้งรกรากที่ดินแดนอิสราเอล เพราะเชื่อว่าเป้นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ จนสามารถก่อตั้ง “ประเทศอิสราเอล” ขึ้นมาได้สำเร็จในปี 1948
และนับตั้งแต่นั้นมา การทำสงครามเพื่อยึดดินแดนศักดิ์สิทธิ์ก็ดำเนินเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ โดยหนึ่งในคู่ขัดแย้งหลักของอิสราเอลปัจจุบันคือ “กลุ่มฮามาส” กลุ่มชาวมุสลิมปาเลสไตน์ติดอาวุธ ที่แยกตัวออกมาจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ในอียิปต์
กลุ่มฮามาสมีแนวคิดว่า อิสราเอลยึดครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์ไว้โดยมิชอบ และมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยดินแดนปาเลสไตน์ และต่อมาในปี 2006 ได้รับเลือกตั้งให้เป็นรัฐบาลปกครองฉนวนกาซา
ตั้งแต่ปี 2006 กลุ่มฮามาสและอิสราเอลได้เกิดการปะทะกันหลายครั้ง และครั้งล่าสุดก็คือสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่กำลังดำเนินอยู่นี้เอง
โดยสงครามครั้งนี้ มีชนวนสำคัญมาจากเหตุการปะทะกัน 11 วันเมื่อปี 2011 หลังผู้นับถือศาสนาอิสลามหลายหมื่นคนมารวมตัวกันที่มัสยิดอัลอักซอ (Al-Aqsa) เพื่อทำการละหมาดในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนรอมฎอน และเกิดการปะทะกับตำรวจอิสราเอลจนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก และในเวลานั้น ฮามาสได้เปิดฉากโจมตีอิสราเอล จนเกิดเป็นการปะทะยาวนาน 11 วัน และจบลงที่การสงบศึก
กระทั่งปี 2023 โมฮัมหมัด เดอีฟ ผู้บัญชาการทหารของกลุ่มฮามาส ซึ่งเชื่อกันว่าคับแค้นใจอย่างมากต่อเหตุการณ์เมื่อ 2 ปีก่อน ตัดสินใจเปิดศึกกับอิสราเอลอีกครั้งในวันที่ 7 ต.ค. ภายใต้ “ปฏิบัติการอัล-อักซอ”
โดยในวันดังกล่าว นักรบของกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลตอนใต้จากฉนวนกาซาด้วยขีปนาวุธ และส่งกองกำลังเข้าโจมตีชุมชนใกล้เคียง เช่น ฟาร์อาซา เบเอรี เรอิม รวมถึงคอนเสิร์ตซูเปอร์โนวาที่จัดอยู่ใกล้เคียง สังหารผู้คนไป 1,200 คน และจับตัวประกันกว่า 240 คนกลับไปที่ฉนวนกาซา นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู ได้ประกาศว่าอิสราเอลอยู่ในภาวะสงคราม และดำเนินการโจมตีทางอากาศตอบโต้ต่อฉนวนกาซา
2 วันต่อมา ยูอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล ได้ประกาศ “ปิดล้อมฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์” โดยกล่าวว่า เจ้าหน้าที่จะตัดไฟฟ้าและปิดกั้นไม่ให้มีการขนส่งอาหาร น้ำ และเชื้อเพลิง เข้าไปยังกาซา
13 ต.ค. อิสราเอลแจ้งให้ชาวเมืองกาซาซิตี เมืองหลักของฉนวนกาซา ซึ่งมีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ให้อพยพและย้ายไปทางใต้ แต่ก็มีรายงานว่าทางตอนใต้ของกาซาก็ตกอยู่ภายใต้การโจมตีของอิสราเอลเช่นกัน
สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายหนัก เมื่อมีการโจมตีถล่ม โรงพยาบาลอัล-อะห์ลี อัล-อาระบี แบปทิสต์ (al-Ahli al-Arabi Baptist Hospital) ในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 17 ต.ค. ซึ่งโดยหลักมนุษยธรรมแล้ว การโจมตีสถานพยาบาลในระหว่างสงครามนั้นถือเป็นเรื่องต้องห้าม
ฝั่งฮามาสกล่าวโทษเหตุระเบิดดังกล่าวว่าเกิดจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล แต่อิสราเอลระบุว่า มีสาเหตุมาจากการยิงจรวดผิลพลาดของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์
ขณะที่สถานการณ์ตึงเครียด ก็มีข่าวเกี่ยวกับตัวประกันซึ่งเป็นสัญญาณดีในวันที่ 20 ต.ค. เมื่อกลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันชาวอเมริกัน 2 คน ได้แก่ จูดิธ รานัน วัย 59 ปี และนาตาลี ลูกสาวของเธอ วัย 17 ปี ซึ่งทั้งคู่ถูกลักพาตัวไปจากชมุชนเกษตรกรรมนาฮาลออซ ทางตอนใต้ของอิสราเอล จนเกิดความหวังว่า การเจรจาเพื่อปล่อยตัวประกันคนอื่น ๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้
นอกจากนี้ ในวันที่ 21 ต.ค. ยังเกิดสัญญาณดีอีกหนึ่งอย่างสำหรับพลเรือนในฉนวนกาซา นั่นคือการเปิดจุดผ่านแดนราฟาห์ ซึ่งเชื่อมฉนวนกาซากับอียิปต์ ทำให้สามารถส่งรถบรรทุกนำสิ่งจำเป็น เช่น อาหาร น้ำ ยารักษาโรค เข้าไปได้
ต่อมาในวันที่ 23 ต.ค. กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันเพิ่มอีก 2 คน เป็นหญิงชราชาวอิสราเอล ได้แก่ นูริต คูเปอร์ วัย 79 ปี และโยเชฟเวด ลิฟชิตซ์ วัย 85 ปี
จากนั้นราว 3-4 วันต่อ กองทัพอิสราเอลได้เปิดฉาก “ปฏิบัติการภาคพื้นดิน” ส่งรถถังและทหารบุกเข้าไปในฉนวนกาซา และราวสัปดาห์ถัดมา ก็สามารถควบคุมกาซาซิตีไว้ได้
สถานการณ์โฟกัสที่อยู่ที่การปะทะกันของทั้งสองฝ่ายในฉนวนกาซา กระทั่งวันที่ 13 พ.ย. รถถังของอิสราเอลรุกคืบไปถึงโรงพยาบาลอัล-ชิฟา โรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในฉนวนกาซา โดยอิสราเอลเชื่อว่า ที่นี่เป็นหนึ่งในหน่วยบัญชาการของกลุ่มฮามาส ท่ามกลางความกังวลว่า ผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลจะได้รับผลกระทบไปด้วย
15 พ.ย. กองกำลังพิเศษของอิสราเอลเข้าไปในโรงพยาบาลอัล-ชิฟา และตรวจค้นสถานที่ โดยยังคงมีผู้ป่วยอยู่ข้างใน ในตอนแรกพวกเขาค้นพบเพียงคอลเลคชันอาวุธเล็กๆ เท่านั้น แต่ในวันต่อมาก็พบทางเข้าอุโมงค์ ซึ่งคาดว่าเชื่อมกับเครือข่ายอุโมงค์ใต้ดินของกลุ่มฮามาส
และในที่สุดก็มีข่าวดีเกิดขึ้นในวันที่ 21 พ.ย. เมื่ออิสราเอลและฮามาสประกาศข้อตกลงหยุดสู้รบเป็นเวลา 4 วัน เพื่อปล่อยตัวประกัน และส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในฉนวนกาซา
อิสราเอลยังเสนอว่า จะยอมหยุดยิงเพิ่มอีก 1 วันต่อตัวประกันทุก ๆ 10 คนที่ฮามาสปล่อยเพิ่มนอกเหนือจากข้อตกลง
ภายใต้ข้อตกลงหยุดยิง กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันออกมาทั้งสิ้น 105 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 23 คน คาดว่ายังเหลือตัวประกันชาวไทยอีก 8-9 คน ส่วนฝั่งอิสราเอลเอง ก็ปล่อยตัวชาวปาเลสไตน์ 240 คน
แต่ข้อตกลงหยุดยิงก็ดำเนินไปได้เพียง 7 วันเท่านั้น เมื่อขณะที่ข้อตกลงจะสิ้นสุดลง ได้มีจรวดถูกยิงออกมาจากฉนวนกาซาเข้าใส่อิสราเอล ประกอบกับตกลงเงื่อนไขกันไม่ได้ ทำให้ทั้งสองฝ่ายกลับมาสู้รบกันอีกครั้งในวันที่ 1 ธ.ค.
หลังจากนั้น ทั้งสองฝ่ายก็เดินหน้าทำสงครามกันต่อ โดยที่ยังไม่เห็นวี่แววว่า การหยุดยิงครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นเมื่อใด และเมื่อไรสงครามครั้งนี้จึงจะสิ้นสุดลงเสียที